CAPTCHA (Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart) เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยประเภทหนึ่งที่เรียกว่าการตรวจสอบสิทธิ์แบบที่ต้องตอบคำถาม CAPTCHA ช่วยปกป้องคุณจากสแปมและการถอดรหัสผ่านโดยขอให้คุณทำการทดสอบง่ายๆ เพื่อพิสูจน์ว่าคุณเป็นมนุษย์และไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่พยายามเจาะบัญชีที่มีรหัสผ่านป้องกัน
การทดสอบ CAPTCHA แบ่งเป็น 2 ส่วนง่ายๆ คือ ชุดตัวอักษรและ/หรือตัวเลขที่สร้างขึ้นแบบสุ่มโดยแสดงเป็นรูปภาพบิดเบี้ยว และกล่องข้อความ หากต้องการผ่านการทดสอบและพิสูจน์ว่าคุณเป็นมนุษย์ ก็เพียงพิมพ์อักขระที่เห็นในรูปภาพลงในกล่องข้อความ
สาเหตุที่ Google ใช้ CAPTCHA
Google มุ่งมั่นรักษาข้อมูลของคุณให้ปลอดภัย เราจึงใช้ CAPTCHA เป็นมาตรการป้องกันการเข้าสู่ระบบดิจิทัลจากระยะไกล โดยตรวจสอบว่ามีเพียงมนุษย์ที่ใช้รหัสผ่านที่ถูกต้องเท่านั้นที่เข้าถึงบัญชีของคุณได้ CAPTCHA เป็นมาตรการที่ได้ผลเนื่องจากคอมพิวเตอร์นั้นสามารถสร้างรูปภาพที่บิดเบี้ยวและประมวลผลคำตอบได้ แต่อ่านหรือแก้ปัญหาในแบบที่มนุษย์ต้องทำเพื่อผ่านการทดสอบไม่ได้
บริการบนเว็บไซต์จำนวนมาก รวมถึง Google ต่างก็ใช้ CAPTCHA เพื่อช่วยป้องกันการเข้าสู่บัญชีโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้คุณอาจเห็น CAPTCHA ในเว็บไซต์อื่นๆ ที่ให้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนด้วย เช่น บัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต
Google จะใช้ CAPTCHA เมื่อใด
Google จะใช้ CAPTCHA เพื่อเสริมความปลอดภัยในจุดเข้าใช้งานบัญชีที่มีความละเอียดอ่อนที่สุด โดยคุณอาจเห็น CAPTCHA เมื่อทำสิ่งต่อไปนี้
- ลงชื่อสมัครใช้บริการใหม่ของ Google (Gmail, Blogger, YouTube)
- ลงชื่อสมัครใช้บัญชี Google Workspace รุ่นใดก็ตาม
- เปลี่ยนรหัสผ่านของบัญชีที่มีอยู่
- ตั้งค่าบริการของ Google สำหรับอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันของบุคคลที่สาม (เช่น iPhone, Outlook, ActiveSync เป็นต้น)
หากอ่านข้อความในรูปภาพ CAPTCHA ไม่ค่อยออก ฉันควรทำอย่างไร
หากไม่เห็นรูปภาพ CAPTCHA หรืออ่านข้อความไม่ค่อยออก ให้รีเฟรชเบราว์เซอร์เพื่อเปลี่ยนรูปภาพใหม่
แม้ว่า CAPTCHA จะใช้รูปภาพเป็นหลัก แต่ก็มีเวอร์ชันเสียงสำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตาเช่นกัน หากต้องการเข้าถึงเวอร์ชันเสียง ให้คลิกลิงก์ที่แสดงเป็นสัญลักษณ์การช่วยเหลือพิเศษสากล (ไอคอนคนนั่งเก้าอี้รถเข็น) ใกล้กับกล่องข้อความ โดยรูปภาพนี้จะมีข้อความอธิบายเสริมว่า “ฟังแล้วพิมพ์ตัวเลขที่คุณได้ยิน” CAPTCHA ยังไม่รองรับผู้ที่ทั้งหูหนวกและตาบอด
แหล่งที่มา : https://support.google.com/a/answer/1217728?hl=th